สงครามความคิด และวิกฤตสันติภาพ

[ก้าวต่อก้าว] โดย สารากร


สงครามความคิด และวิกฤตสันติภาพ

โลกของเรา มีสิ่งมีชีวิตมากมาย “คน” เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เข้าใจว่า สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โต้ตอบกันได้โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมา คนนี้เองที่ลงเอยการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันด้วยการเข่นฆ่า เช่นเดียวกับการล่าเนื้อของสัตว์ที่แข็งแรงกว่า ต่างกันเพียงเท่านี้ว่า คนไม่ได้ฆ่ากันเพื่อล่าเป็นอาหาร เกิดอะไรขึ้นกับระบบความคิดของคน ที่เรียกตัวเองว่าสัตว์ประเสริฐ หรือพวกเขาเหล่านั้น มีสัญชาตญาณสัตว์ป่าอยู่ในกมลสันดาน จึงไม่อาจใช้แนวทางสยบปัญหาอย่างสันติวิธีได้

เด็กสาวคนหนึ่ง เธอนำความมุ่งมั่นมาจากดอยสูงเพื่อเรียนรู้ และรับใช้สังคมที่มีแต่รอยแตกแยก เธอชื่อ อัญญาณี สิทธิอาษา นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ ๑ คณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์ หรือที่เรารู้จักเธอในห้องหนอนสนทนาชื่อ ปลา (ไม่) น้อย เธอเล่าด้วยความสดใสว่าชื่อเต็มของเธอว่า

“ปลา (ทอง) สมอง (น้อย) ค่ะ แต่หลัง ๆ เริ่มอ้วนเลยคิดว่ามันไม่น้อยแล้ว (หัวเราะ)”

ปัจจุบันเธอทำงานให้กับอาสาสมัครนักกฎหมาย เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) การพูดคุยของเราครั้งนี้เกิดขึ้นในกลางดึกคืนหนึ่งก่อนที่เธอจะเดินทางลงใต้ไปจังหวัดปัตตานีในวันรุ่งขึ้น

สารากร : คุณเคยทะเลาะกับเพื่อนอย่างหนักไหมคะ ลองเล่าให้ทราบได้ไหมว่าด้วยเรื่องอะไร แล้วลงเอยกันอย่างไร

อัญญาณี : เคยทะเลาะกับเพื่อนครั้งยิ่งใหญ่ตอนปี ๑ เรื่องการอยู่ร่วมกัน ตอนอยู่หอในของมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็กลับมาคุย ก็กลายเป็นเรื่องฮา ๆ ไป เป็นอารมณ์ที่เด็กมาก ๆ แต่กว่าจะคุยก็ผ่านไปตั้งสองปี

สารากร : สองปีนี่อึดอัดไหมคะ

อัญญาณี : มากมาย ก็คบกันมาตั้งแต่มัธยมปลาย แต่ไม่มีใครยอมคุยก่อน

สารากร : แล้วสุดท้ายใครเริ่มล่ะคะ

อัญญาณี : อัญค่ะ ทนไม่ไหว อัญทำกิจกรรมด้วยมั้งคะ เลยเหมือนกับมีมุมมองชีวิตใหม่ ๆ ขึ้น

สารากร : กิจกรรมที่ทำนี่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้างคะ

อัญญาณี : อัญอยู่ชมรมอาสาพัฒนาค่ะ กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นบำเพ็ญประโยชน์ เป็นลักษณะของการออกค่ายอาสาไปตามหมู่บ้านบนดอยสูงต่าง ๆ เป็นค่ายสร้างค่ะ

สารากร : สร้างอะไรไปบ้างแล้วคะ

อัญญาณี : ที่ผ่านมาเท่าที่อัญอยู่นะ ก็มีห้องน้ำ และก็อาคารอเนกประสงค์ขนาดกลางค่ะ เป็นเสาปูน โครงไม้

สารากร : แล้วคิดว่าเรื่องที่เราทะเลาะกันกับเพื่อน มันเล็กลงไปเลยใช่ไหมคะ ถึงได้เริ่มคุยกับเพื่อนก่อน

อัญญาณี : ใช่ค่ะ จริงแล้วความเป็นเพื่อนของเรามันไม่น่าจะจบแบบนี้ จริง ๆ แล้วเรื่องการอยู่ร่วมมันเรื่องเล็กน้อย มันสามารถคุยและปรับเปลี่ยนกันได้ ทำความเข้าใจกันได้

สารากร : ความคิดเห็นที่ต่างกัน บางครั้งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท อย่างในสังคมเรา คิดอย่างไรกับกรณีอย่างนี้ อย่างเมื่อช่วงก่อนทำรัฐประหารที่มีข่าวว่าชาวบ้านแทงกันตายกลางวงเหล้า เพราะพูดผิดหูกันเรื่องการเมืองคะ

อัญญาณี : ค่อนข้างเชื่อเรื่องการเคารพความคิดเห็น คนเราต่างมีที่มาของชีวิตและการเติบโตที่ต่างกันเป็นธรรมดามากที่ความคิดจะต่างกัน สำคัญอยู่ที่การยอมรับฟังกันมากกว่า ประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยอย่างเรา ๆ เสรีภาพทางความคิดน่าจะมีอยู่ทั่วทุกอณู เรื่องการแทงกันเพราะพูดกันคนละเรื่อง อัญว่ามันประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง หนึ่ง เรื่องที่คุยแล้วไม่ตรง สอง เหล้า ถ้าสติไม่อยู่กับตัว หรือเราควบคุมมันไม่ได้ ไม่ว่าคุยเรื่องไหนก็แทงได้อยู่ดี

สารากร : เป็นไปได้ไหมคะว่า คนเราชอบเอาชนะ จึงสามารถฆ่ากันได้ เพียงมีความเห็นขัดแย้งกัน

อัญญาณี : เคยมีคนกล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า ไม่เคยมีใครมองตัวเองก่อนมองคนอื่น ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าข้างตัวเอง มันอาจเชื่อมโยงถึงลักษณะนิสัยการอยากเอาชนะของมนุษย์เราก็ได้นะ

สารากร : มองว่าปัญหาความขัดแย้งที่มีที่มาจากปมบางอย่าง ร้ายแรงมาก เช่นปมชนชั้น ชมการศึกษา ปมเชื้อชาติ รวมถึงศาสนา คิดอย่างไรกับการแก้ปัญหาในปัจจุบัน กับเรื่องความขัดแย้งที่มีที่มาจากปมเหล่านี้ ของผู้นำประเทศคะ

อัญญาณี : อัญเอาเรื่องที่ความรู้สึกนะ ปมที่เป็นเรื่องของชนชั้นการศึกษาอัญว่าระบบมหาวิทยาลัยสอนให้เราเป็นแบบนั้น เราถูกกำหนดให้ภาคภูมิใจในความเป็นบัณฑิตของเรา คล้ายยกย่องเป็นเทพเจ้าในที ทุกวันนี้ท่านผู้นำก็ยังคงลักษณะ การบ่มเพาะทางการศึกษาเช่นนี้ต่อไป เหมือนความพอเพียง คือการลงนาม เอฟทีเอ (หัวเราะ) อัญว่าเขาไม่เคยแก้ ไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน พยายามบ่มเพาะให้เราก้าวไกล เป็นเจ้าคนนายคน มันสวนทางกับการปฏิญาณตนของบัณฑิต ต่อหน้าที่นั่งของท่านเธอทั้งหลาย สิ่งที่บอกให้เราไปรับใช้สังคม มันไม่สอดคล้องกับนโยบายที่เป็นอยู่ ทั้งมหาวิทยาลัยนอกระบบและอื่น ๆ มากมาย แล้วจะมาแก้ปัญหาเรื่องชนชั้นในสังคม แต่ส่งเสริมให้คนจบมหาวิทยาลัยเป็นเทพ มันก็ส่งผลให้เกิดชนชั้นอยู่ดี

อัญญาณี : แต่เรื่องเชื้อชาติ หมายถึงภาคใต้ป่าวคะ

สารากร : ค่ะ

อัญญาณี : อืม อัญไม่ปฏิเสธถึงการอยู่ของกลุ่มนะคะ แต่อัญเชื่อว่ามันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

สารากร : กลุ่มนี้หมายถึงอะไรคะ

อัญญาณี : กลุ่มขบวนการของมุสลิมค่ะ อัญไม่อยากเรียกเขาเหมือนที่สังคมเรียกขาน มันโหดร้ายเกินไป เขาไม่ใช่โจร มันมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่หากสังเกตก็จะพบความแปลกประหลาด การปล้นปืน ระเบิด หรือแม้แต่การตายขององค์กรท้องถิ่นอยู่ช่วงหนึ่ง ปมจริง ๆ ของภาคใต้ไม่ใช่ความแตกต่างทางศาสนาแต่มันคือความกดดันที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐ หรือทหารนั่นแหละ

สารากร : สันติวิธี จะใช้ได้ไหมคะ กับปมความขัดแย้ง ที่ต่างฝ่ายต่างบอกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ รัฐอ้างว่า คนในพื้นที่สร้างสถานการณ์ คนในพื้นที่กันคนของรัฐไม่ให้เข้าไปยุ่งเพราะกลัวถูกใส่ความ แล้วอย่างนี้ คำว่าสันติวิธี สันติภาพ จะสามารถลงเอยได้ไหมคะ

อัญญาณี : อัญเชื่อว่า สันติวิธี สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่า ใครจะยอมหยุดสถานการณ์ก่อนใคร กับคำถามที่ว่า “คนในพื้นที่คนของรัฐไม่ให้เข้าไปยุ่งเพราะกลัวถูกใส่ความ”–สิ่งนี้ตั้งคำถามได้ว่า ทำไมชาวบ้านถึงไม่ไว้ใจรัฐ มันเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากแต่ไม่มีใครกล้าถาม อัญว่ามันคาบเกี่ยวกับทัศนคติและความเชื่อที่มีมานานที่มักกล่าวว่า อิสลามหัวรุนแรง รัฐของไทยก็มองเช่นนั้นมองว่าต้องควบคุมความรุนแรง

สารากร : พรุ่งนี้เดินทางไปปัตตานี มีกิจกรรมอะไรคะ

อัญญาณี : โครงการนักศึกษาสู่ชุมชนเยียวยาผู้สูญเสียค่ะ เป็นโครงการที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่ะ

สารากร : เป็นการรับทราบข้อมูลความเป็นไปของเพื่อนที่อยู่ทางใต้ด้วยหรือเปล่า

อัญญาณี : ส่วนหนึ่งค่ะ

สารากร : “สงครามความคิด และวิกฤตสันติภาพ ” จะมีวันเบาบางลงไหมคะ ในความเห็นของคุณ ที่ทำกิจกรรมจริงอย่างนี้ มองเห็นปัญหา และอุปสรรคที่แท้จริง ถ้าสามารถทำได้ คุณคิดว่าต้องใช้เวลานานสักเท่าไร จึงจะทำให้สถานการณ์สังคมของเรา สงบลงกว่าที่เป็นอยู่คะ

อัญญาณี : ตราบเท่าที่คนเรายังเคารพสิทธิ เสรีภาพเพียงแค่ลมปาก แต่ไม่ปฏิบัติตามทฤษฎีที่คิดกันมากมาย มันก็ยังคงเกิด สงครามความคิด มีแต่ความคิดไม่เคยปฏิบัติ

คำถามนี้เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เหมือนมันประกอบด้วยองค์หลาย ๆ อย่างที่ผูกติดมายาวนาน ทั้งเรื่องความขัดแย้ง ความเรื่องทัศนคติความเชื่อ เชื่อว่าหลายคนคงไม่ปฏิเสธว่าเชื่อตามสื่อหลัก เพราะมันเป็นเรื่องกระทบจิตใจมาก ทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่ตาย มันสะเทือนใจมาก หรือครูที่ถูกฆ่าก็ตาม สันติภาพน่าจะเป็นคำตอบค่ะ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดหรือ มันจะถูกใช้เมื่อไหร่ กลุ่มน้องทางใต้ก็มีนะคะ ที่รณรงค์เรื่องสันติภาพ เขาก็มีความกังวลในเรื่องนี้ แต่มันไม่ถูกนำเสนอค่ะ

………

    กางปีกหลีกบินจากเมือง
    เจ้านกสีเหลืองจากไป
    เจ้าบินไปสู่เสรี
    บัดนี้เจ้าชีวาวาย
    เจ้าเหิรไปสู่ห้วงหาว
    เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
    อาบปีกด้วยแสงตะวัน
    เจ้าฝันถึงโลกสีใด
    (บางส่วนจาก เพลงนกสีเหลือง คำร้อง วินัย อุกฤษณ์)

ความหมายของเสรีภาพที่จะบังเกิดขึ้นควรแลกมาด้วยสันติภาพ และสันติภาพที่จะบังเกิดขึ้นควรปราศจากอำนาจเผด็จการ แม้แต่ทางความคิด การคิดต่าง ไม่จำเป็นต้องประหารกัน เพราะสุดท้ายเราต่างต้องตายทุกคนจะยืนยงคงไม่มี ที่คงไว้คือความดีงาม ที่เกิดจากการคิดดี พูดดี และทำดี ·


[อ่าน ก้าวต่อก้าว ในฉบับอื่น] | [สารบัญ – ก้าวฯที่ ๑๗]

4 Responses to สงครามความคิด และวิกฤตสันติภาพ

  1. สวรรค์เสก พูดว่า:

    แหม ตอนจบนี่นะ ถ้ามีคำว่า “เอวัง” ปิดสกอร์ซะหน่อยละก้อ

    นายสอ เป็นประนมมือ “สาธุ” แบบไม่รู้ตัวเลยเชียว

  2. สารากร พูดว่า:

    แหม พี่ชายก็กล่าวหนักไป ไม่ได้เทศน์อยู่นะ

    ขอบคุณที่ติดตามอย่างเหนียวแน่นค่ะ

  3. ศิษย์เหลน พูดว่า:

    เด็กสมัยนี้มีความคิดเข้าท่านะ

    อยากให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมเด็กในทางที่ดี มากกว่าจะคอยแต่หาทางจับผิด

  4. ต้าคับ พูดว่า:

    ผมเรียนด้านProgrammerคับ พอดีจะทำProjeectจบ สร้างโปรแกรมเกี่ยวกับการออกค่าย อาจารย์ให้ไปหาปัญหาของการออกค่ายมา เพื่อมาทำโปรแกรมไว้ใช้งานทางด้านนี้ เสนอปัญหาไปหลายอย่างแต่ไม่ผ่านสักที่ อาจารย์เลยบอกให้มาสอบถามคนออกค่ายอาสาโดยตรง เลยอยากจะรบกวน คนเคยออกค่ายอาสาบ่อยๆ ช่วยเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันหน่อยนะคับ ในอนาคตอาจมีโปรแกรมนี้ ไว้ให้คุณได้ใช้งาน เพื่อช่วยคุณลดปัญหาหรือแก้ปัญหาของการออกค่าย ขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ล่วงหน้าคับ
    หากสะดวกส่งข้อมูลผ่านทางอีเมลล์ ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งคับ
    lukpoo_13@hotmail.com

ใส่ความเห็น