ฤดูกาล : วรรณกรรมสะท้อนสังคมเมืองจากแนวป่า

[Book Review] โดย วนิดา (นามปากกา)




ฤดูกาล : วรรณกรรมสะท้อนสังคมเมืองจากแนวป่า

นักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติผู้พ่ายแพ้จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือคราบนักศึกษาผู้นำขบวนเสรีภาพฝ่าลงบนถนนอันร้อนระอุในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ชายผู้ซ่อนศีรษะใต้หมวกเบเร่ต์ เอกลักษณ์ที่ชินตาคนยุคแสวงหาตราบจนยุคแสวงหวย น้อยคนนักกับคำปฏิเสธว่า “ไม่รู้จักเขา” ยิ่งในหมวดวรรณกรรมด้วยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งต่อการกะเทาะแก่นเข้าไปในงานของบุรุษผู้นี้ถึงเหตุแห่งการดีดตัวเองออกจากสูตรสำเร็จ

ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น ทำไมวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เขาเนรมิตขึ้นหน้าถ้ำในแนวป่าถึงเป็นการฉีกออกมาจากทางสายเดิม

ไม่มีคำตอบใดชัดเจนเท่ากับการได้อ่าน ฤดูกาล โดยน้ำมือนักต่อสู้แห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

เขา… เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ความจริงอันสมควรกล่าวก่อนคือ ฤดูกาล ผ่านการวิจารณ์กึ่งคำนำด้วยขุนพลวรรณกรรมรุ่นใหญ่จากเวทีช่อการะเกดมาแล้วโดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ในครั้งนั้น…เวียงได้ทำหน้าที่รับหน้าเสื่อในการจาระไนถึง ‘ฤดูกาล’ อย่างกระจ่างชัดแจ่มแจ้งทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง (ซึ่งปรากฏอยู่ในเล่ม) อาจเรียกได้ว่าบริบูรณ์ก็ไม่ผิดไปนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกเข้าไปในเส้นทางสายวรรณกรรมบ้านเรา อันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาอยู่เสมอนั้น ‘ฤดูกาล’ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งจากคำกล่าวข้างต้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางความคิดให้กว้างขวางออกไป โดยไม่ยึดวิธีตายตัวตามกระแสสังคมนิยมซึ่งมาแรงในการผลิตศิลปะสมัยนั้น หลากหลายเรื่องราวในท่อนจบของเรื่องสั้นชุด ‘ฤดูกาล’ บทสรุปประเภทปิดพื้นที่ให้แคบลง เหลือไว้เพียงการชูสังคมนิยมต่อการแก้ปมปัญหาอะไรต่อมิอะไรนั้น ดูจะหาไม่ได้จากรวมเรื่องสั้นเพื่อชีวิตเล่มนี้

สาเหตุหลักจากความต่างของเสกสรรค์กับสหายร่วมอุดมการณ์ในแนวป่า อันที่จริงมันได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว เดิมทีการหันเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ของเสกสรรค์เกิดจากสภาวะบีบคั้น (เข้าป่าในความหมายของการ“หนี”) มากกว่าการปลงใจสู้เป็นที่ตั้ง (เข้าป่าโดยความจงใจจะปฏิวัติแผ่นดินเช่น นายผี เป็นต้น) ข้อแตกต่างระหว่างตัวเสกสรรค์กับสหายร่วมพรรคนำมาซึ่งการผลิตงานเขียนนั้นก็ย่อมต่างกันออกไปด้วย (ไพล่ไปถึงงานเพลงเพื่อชีวิตของพรรคในระยะหลังจากสหายร่วมอุดมการณ์อีกด้วย) ดังจะเห็นได้จาก ‘การวิเคราะห์สภาพสังคมไทย’ บทความจากปัญญาชนภายในพรรค วัตถุประสงค์ของการระดมปัญญาชิ้นนี้ก็เพื่อการจะปฏิวัติใด ๆ ก็ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะปฏิวัติก่อน เมื่อการวิเคราะห์นี้ออกมากลับได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันระหว่าง

“สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น”

หรือ

“สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งทุนนิยม”

และ

“สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งทุนนิยมกึ่งศักดินา”

น่าตกใจยิ่ง จากบทวิเคราะห์จะเห็นได้ว่า ปัญญาชนทางพรรคไม่มีใครสรุปว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยตามที่ตราไว้สักคนเดียว! (ธีรยุทธ บุญมี ก็หนึ่งในคนวิเคราะห์บทความนี้เช่นกัน)

ไม่มีข้อสรุปอันใดชี้ชัดถึงการวิเคราะห์ของพลพรรคพคท. แต่แล้วความขัดแย้งจากบทวิเคราะห์นี้ภายหลังได้กลายเป็นอีกชนวนข้อขัดแย้งก่อนจะลุกลามไปถึงขั้น ป่าแตก! โดยอำนาจรัฐได้เข้าไปช่วยสลายพลังของพรรคตามมาตรา ๖๖/๒๕๒๓ อีกแรงหนึ่ง

ปีเดียวกันนั้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ฉากหนีออกมามอบตัวกับทางการ เขาเป็นคนแรก ๆ ที่รู้สึกถึงสัญญาณแห่งการคว้าน้ำเหลวในแนวทางของพรรค ไม่แปลกอะไรหากสัญญาณนี้จะแปรผันกลายร่างเป็นงานเขียนของเขา รวมไปถึงท่าทีแข็งกร้าวต่อพรรค และในกาลต่อมา ‘เวลา’ ก็ได้เข้าพิสูจน์ถึงมนตร์ขลังของ ‘ฤดูกาล’ ด้วยความไม่ตายตัวตามแนวคิดปฏิวัติ ตลอดจนการหลุดรอดไปจากขลุมสังคมนิยมแบบซ้ายจัด เหตุนี้ เราจึงเห็น ‘ฤดูกาล’ วางบนแผงปะปนกับหนังสือตามยุคสมัยได้ไม่ขัดเขิน

กระนั้นใช่ว่าสังคมไทยจะดีขึ้น เสกสรรค์เองยังแสดงทัศนคติต่อสภาพปัจจุบันถึงความย่ำแย่ที่ยิ่งกว่ายุคเขา ตัวเขาเองยังคงยกย่อง “คาร์ล มาร์กซ” ให้เป็นอาจารย์ใหญ่ สรรพคุณทางยาหลายขนานของแนวคิดสังคมนิยมยังคงมีกลุ่มปัญญาชนทั่วโลกหยิบยกขึ้นใช้เพื่อเยียวยาบาดแผลอันฟอนเฟะของชุมชนแต่ละประเทศมากกว่าการจับปืนแบบเก่าก่อน การประชุมสมัชชาโลกในปัจจุบันเอย พรรคสังคมนิยมตามแต่ละประเทศภาคพื้นยุโรปที่ชนะประกวดการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้บ่อยครั้งเอย ยังยืนยันได้ถึงการไม่ตายของแนวคิดสังคมนิยม

หลายต่อหลายครั้งวรรณกรรมเพื่อชีวิตมักหยิบนายทุน ข้าราชการ ชนชั้นกระฎุมพี เลยเถิดไปถึงชั้นเจ้าราชนิกุล มารับบท ‘ผู้ร้าย’ ตามด้วยแนวทางหลักโดยมอบบทกรรมาชีพ ชาวนา กรรมกร ผู้ทุกข์ยาก เป็นตัวละครเอก โดยมีการ ‘กดขี่’ ‘ขูดรีด’ ‘เอารัดเอาเปรียบ’ ‘มอมเมา’ เป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องเพื่อบีบให้ทางออกเหลือเพียงการ ลุกขึ้นสู้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

แต่ไม่กับ ‘ฤดูกาล’

ด้วย ‘ฤดูกาล’ ในตัวของมันได้ถือกำเนิดจากมุมมองแปลกแยกจากวรรณกรรมอ่านแล้วชวนให้สู้ เสกสรรค์ ตั้งคำถามประโยคใหม่แห่งยุคลงไปในงาน เจตนารมณ์ที่ปรากฏก็กลายไปเป็น ‘อ่านแล้วชวนให้ไตร่ตรองพิจารณา’ ก่อนจะทำอะไรต่อไปมากกว่าการโน้มน้าวจิตใจให้เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม

สิ่งใดกันที่สามารถยืนยันคำพูดนี้

ไม่มีคำตอบใดชัดเจนเท่ากับการได้อ่าน ‘ฤดูกาล’ โดยน้ำมือนักต่อสู้แห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

…นั่นแหล่ะข้อพิสูจน์ยืนยัน

สองเรื่องแรก ระหว่าง “ลมอุ่นเมื่อใกล้ค่ำ” และ “พ่อกับลูก” ประเด็น ‘สถาบันครอบครัว’ ดูจะนำมาเป็นอันดับหนึ่งหากจะถามว่าผู้เขียนคิดถึงอะไร

“สมชาย” ภายในเนื้อเรื่องมี ‘นายแทน’ เขาเปรียบประดุจวัคซีนคุ้มกันจินตนาการสำหรับเด็กน้อย ผู้ใช้ความฝันเฟื่องเลื่อนลอยลบปมด้อยตนเองต่อหน้าคนอื่น

“พลเมืองดี” ชายวิ่งราวกับชายทุพลภาพนั่งขอทานข้างถนน สภาพที่ทั้งคู่เผชิญนั้น ความลำเค็ญของแต่ละฝ่ายมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเสียเท่าใด ทั้งคู่เลยต้องเอาตัวรอดจากความลำเค็ญสู่การกระทำบาปอันจำเป็น

ทั้งสองเรื่อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริเวณท่าพระจันทร์ กลายเป็นฉากอยู่ด้านหลัง สถานที่ที่เสกรรค์เคยใช้ชีวิตคลุกคลีในช่วงเป็นนักศึกษา เป็นเรื่องปกติธรรมดา หากเด็กธรรมศาสตร์เช่นเขาจะพรรณนาถึงท่าพระจันทร์ได้ดีกว่าใคร ๆ

“ผู้เดือดร้อน” เรื่องนี้เสมือนการลอกคราบชีวิตชาวประมงอีกด้านหนึ่งมาชำแหละให้เห็นกับตา และนั่นคือช่วงชีวิตในวัยเยาว์ของเสกสรรค์ การตีรันฟันแทงในเรื่องไม่เป็นเรื่อง คงเป็นภาพชินตาสำหรับเขาในฐานะอดีตลูกน้ำเค็ม ขณะเดียวกันยังสะท้อนได้ถึงรูปแบบนักเลงหัวไม้ การตายอย่างไร้ค่าไร้ความหมายพร้อมเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับนักเลงผู้รังแต่จะใช้กำลังเข้าตัดสินความไม่สบอารมณ์ของตน

“วันหนึ่งในชีวิตของหนานอิน” เห็นจะมีเรื่องนี้กระมังที่เข้าข่ายแนวคิดสังคมนิยม ‘หนานอิน’ ชาวนาผู้วาดฝันไว้ล่วงหน้าถึงการใช้ข้าว ที่เขาเอาทั้งชีวิตทุ่มเข้าเพื่อพลิกหน้าดินให้เป็นรวง หมายจะนำเมล็ดผลไปแลกกับหนี้และสภาพการเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่แล้วเจ้าของที่ก็คว้าหยาดเหงื่อของหนานอินไปตามข้อตกลงอันไม่ยุติธรรม กองข้าวโดยน้ำมือหนานอินพลันหายไปต่อหน้าในเวลาชั่วอึดใจ หนานอิน เป็นอีกตัวอย่างที่ถูก ‘ระบบการเงิน’ เล่นงานจนเหมือนยืมออกซิเจนผู้อื่นหายใจ!

“ค่าแรงของสำรวย” หนุ่มสำรวยกับการหลงเข้าไปในดงเสือยามราตรี เขาถูกรุมกินโต๊ะจากกลุ่มอันธพาลจนนาฬิกาจากนายหายไปในคืนนั้น ท้ายที่สุด สำรวยก็เพิ่งมาตาสว่างภายหลัง เขาถูกนายต้มด้วยดันไปหลงเชื่อว่า นาฬิกาเรือนนั้นแพงกว่าค่าแรงของตน เรื่องนี้คือกระจกอย่างดี มันส่องให้เห็นความไม่จริงใจซึ่งปรากฏอยู่ทุกอณูในสังคม

“เด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า” ความเชื่อ ศรัทธา พลังหนึ่งทางสังคมมันมีแรงสวิงกลับอย่างน่าหวาดกลัวเสมอยามที่ความเชื่อถูกท้าทาย ไม่เชื่อไปถามลุงเฝ้าศาลเจ้ารายนั้นดูว่าระหว่าง ‘ความเชื่อ’ กับ ‘ความจริง’ สิ่งไหนกันแน่ที่มันจะช่วยชีวิตเรา

และอีกสอง-สามบทกวีแบบกลอนเปล่า ก็รอผู้อ่านให้เข้าไปสัมผัสความงดงามชนิดคุณค่าของแต่ละอักษรไม่เคยจืดจาง

นี่แหล่ะ ฤดูกาล ของอีกปัญญาชนสายการเมือง วรรณกรรมเล่มเล็กของเขาไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนจากสายตารัฐอีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนกับทุกวันนี้ งานเขียน/คำพูด ที่ผ่านมาจากมันสมองของเขาก็ยังคงมีคนไม่น้อยรอเงี่ยหูฟัง/เปิดอ่านอยู่เสมอมิเสื่อมคลาย

วรรณกรรมเพื่อชีวิตอาจมีหลายคนเห็นว่ามันได้ตายไปแล้วบนถนนหนังสือ แต่การอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตหาได้มีอันเป็นไปตามคำกล่าวนี้ไม่ อย่างการตามหางานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงเป็นไปโดยครึกครื้นบนแผงหนังสือเก่า เช่นเดียวกัน หากจะอ่าน ‘ฤดูกาล’ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ฤดูกาลใดมาถึง สามารถแสวงมาเสพได้เลยตามที่ใจเรียกร้อง ·


 

ฤดูกาล 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์สามัญชน
พิมพ์ครั้งที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗
๑๒๘ หน้า

ISBN 974-7607-60-3


[อ่าน Book Review ในฉบับอื่น] | [สารบัญ – ก้าวฯที่ ๑๗]

2 Responses to ฤดูกาล : วรรณกรรมสะท้อนสังคมเมืองจากแนวป่า

  1. สวรรค์เสก พูดว่า:

    อา อาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
    และนั่น อาจารย์ รงค์ วงษ์สวรรค์

    อย่าได้แปลกใจ หากจะมีไอ้หนุ่มซินตึ๋ง นาม “สวรรค์เสก” ผู้ซึ่งศรัทธาต่อตัวอักษรของสองท่าน แล้วดันจิ๊กชื่อของบรมครูผู้หยิบฉวยตัวอักษรจากอากาศ แล้วเรียงร้อยเป็นพวงมาลาบนหน้ากระดาษ มาเป็นนามปากกาของตัวเอง

    ไอ้หนุ่มหมัดเมาผู้นี้ ยังออกอาการเมาหมัดอยู่ รอก่อนๆ รอให้มันหายดี คงได้มีเรี่ยวแรงเดินตามกลิ่นตดของผู้อาวุโสไปบ้าง

  2. cotton พูดว่า:

    เพิ่งหาหนังสือเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์มาอ่าน ทั้งประวัติของเขาและหนังสือเรื่อง โฉมหน้าศักดินาไทย
    ทำให้ได้สิ่งที่เสริมสิ่งที่ตระหนักมาได้ก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่ง

    [“สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น”

    หรือ

    “สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งทุนนิยม”

    และ

    “สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งทุนนิยมกึ่งศักดินา”]

ใส่ความเห็น