คุยกันเท่านั้นเอง – บทสนทนาจากพี่วินทร์ เลียววาริณ ถึงก้าวรอก้าว

[ก้าวต่อก้าว] โดย สารากร


คุยกันเท่านั้นเอง
บทสนทนาจากพี่วินทร์ เลียววาริณ ถึงก้าวรอก้าว

สวัสดีค่ะเพื่อนนักอ่าน ผู้ติดตามนิตยสารออนไลน์ “ก้าวรอก้าว” มาตลอด นี่เป็นการพูดคุยระหว่างเราครั้งแรก และอาจเป็นครั้งเดียวที่ดิฉันจะเขียนถึงพวกคุณ ตั้งแต่วันแรกที่เราได้พบกัน คุณมองเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

นิตยสารออนไลน์ ก้าวรอก้าว ถือกำเนิดขึ้นจากร่องรอยแห่งมิตรภาพ ที่ก่อตัวขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ในการคบหาที่ปราศจากเงื่อนไข เรารวมตัวกันเพื่อร่วมกันสร้างชุมทางหนังสือที่เราอยากอ่าน แน่นอนว่ามันจะต้องหลากหลาย และในความหลากหลายนี่ล่ะ ที่คือรสชาติที่เราช่วยกันปรุง คุณเคยชิมแล้วนี่ มันอร่อยดี หรือว่าไม่เข้าท่าล่ะ ๑ ขวบแล้วค่ะ นี่เป็นระยะเวลา ๑ ปีเต็มของการทำงานร่วมกัน ถ้าจะสัมภาษณ์ สารากรบ้าง กีรติขอสัมภาษณ์เองดีกว่า

กีรติ : สวัสดีค่ะสารากร ทำคอลัมน์ก้าวต่อก้าวมานานหรือยังคะ
สารากร : ไม่นานเท่าไหร่ค่ะ เพิ่งเป็นคอลัมน์ใหม่ได้สักระยะเท่านั้นเอง หลังคอลัมน์สืบศิลป์หลายปักษ์อยู่ ไม่เชื่อลองไปเปิดอ่านย้อนหลังสิ จำได้ว่า สัมภาษณ์ครั้งแรก เรื่องต่อต้านการสูบบุหรี่นี่ล่ะ

กีรติ : เหนื่อยไหมคะ กับการทำงานร่วมกับก้าวรอก้าว
สารากร : ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ก็ต้องตอบตามตรงสินะคะว่า เหนื่อยค่ะ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่น่าทำมากๆเลย คือการที่เราจะได้คุยกับเพื่อนในห้องหนอนสนทนาในแต่ละปักษ์ เราต้องเลือกคนให้เข้ากับธีมของแต่ละเล่ม รวมทั้งการตั้งคำถาม การนัดสัมภาษณ์ ถึงมันจะเป็นการสัมภาษณ์ออนไลน์ก็ตามที มันน่าสนุก เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่ามากๆ ยิ่งได้รับการตอบรับว่า การคุยกันนี่สร้างสีสันให้นิตยสาร ไอ้เราก็ปลื้ม และอยากทำให้ดีๆขึ้นไปอีกเช่นกันค่ะ ว่าแต่ กีรติล่ะ เหนื่อยไหมที่ทำสืบศิลป์
กีรติ : ก็เหนื่อยนิดหน่อย ส่วนมากเราเอางานเก่าที่ตีพิมพ์ในนิตยสารธรรมลีลาที่ออกรายเดือนมาลงที่ก้าวรอก้าวน่ะค่ะ บางปักษ์ก็เขียนใหม่ จะเหนื่อยก็คงเป็นการเลือกรูปมาลง เพราะว่าเราเขียนเรื่องที่เรารู้ แต่รูปภาพน่ะ ถ่ายเก็บไว้นานมาก ตั้งแต่สมัยเรียนโบราณคดี คราวนี้ก็เสียเวลาหาเพื่อให้ได้รูปที่ใช่จริงๆ มันไม่น่าเบื่อหรอกนะ แต่มันเป็นที่วินัยส่วนตัวมากกว่า ที่ดูเหมือนว่าจะมีน้อยกว่าใครๆ เขา (หัวเราะ) ส่งงานสายบ่อยๆน่ะ

กีรติ : ตั้งแต่ทำสัมภาษณ์มา ชอบงานสัมภาษณ์ชิ้นไหนมากที่สุด
สารากร : เป็นคำถามที่ตอบยากมากค่ะ เพราะทุกครั้งที่ตั้งคำถามเราก็จริงจังด้วยเสมอ แต่ครั้งนี้ คือครั้งสุดท้ายที่ทำมั้ง จึงชอบมากเป็นพิเศษ เพราะได้คุยกับพี่ผู้ใจดีให้ที่ทางในการเผยแพร่ผลงานของเรา ให้ทายค่ะว่าใคร

กีรติ : พี่วินทร์
สารากร : เก่งแฮะ งั้นตามการพูดคุยระหว่างเรากับพี่วินทร์ได้เลยนะ บางทีประกายความสุขเล็กๆ อาจกำเนิดขึ้น เมื่อรู้ว่าใครบางคนเฝ้ามอง และให้กำลังใจเราอยู่ก็ได้

และนี่คือครั้งแรกที่การคุยกับ วินทร์ เลียววาริณ เป็นจริงเป็นจังภายใต้เงื่อนไขของการสื่อสารไร้สาย ถึงแม้ว่าจะเป็นการพูดคุยที่แสนสั้น ทว่าเนื้อหา และความจริงแท้ไม่ได้สั้นตามไปด้วย


(ภาพจาก นิตยสาร open)

สารากร : เริ่มต้นชีวิตการเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
วินทร์ : ตั้งแต่ ป. ๑ ครับ เริ่มเขียน ก. ไก่ ข. ไข่ เมื่อเขียนได้แล้วก็เขียนเป็นประโยคยาวหน่อย ต่อมาราว ป. ๔ ก็เริ่มเขียนเรียงความ ราว ๑๔-๑๕ ก็เริ่มเขียนขำขัน ตามมาด้วยนิยายภาพ จวบจนราว ๒๙-๓๐ จึงลองเขียนเรื่องสั้น อายุสามสิบกว่าจึงเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก

สารากร : มีงานเขียนของนักเขียนท่านใดบ้างคะที่เป็นแรงบันดาลใจ
วินทร์ : มากมายนับไม่ถ้วน ถ้าเอ่ยชื่อนักเขียนไทยช่วงสามสิบปีก่อนมากี่คน ผมก็น่าจะอ่านมาหมดแล้ว แต่หากพูดถึงนักเขียนที่ทำให้ผมอยากเขียนงานแบบนั้นบ้าง ก็มี ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ที่ทำให้อยากเขียนเรื่องแนวตำรวจหักมุมจบ, มนัส จรรยงค์ ที่ทำให้อยากเขียนเรื่องสั้นแนวกินใจ, กิมย้งที่ทำให้อยากเขียนแนวอิงประวัติศาสตร์ผจญภัย ฯลฯ

สารากร : เรื่องแรกที่เขียนจำได้ไหมคะว่าเรื่องอะไร
วินทร์ : จำเรื่องสั้นเรื่องแรกไม่ได้แล้วครับ มันน่าจะเป็นวิญญาณลอยวนเวียนแถวตะกร้าในห้องบรรณาธิการคนใดคนหนึ่ง

สารากร : ย้อนกลับไปอ่านเรื่องแรกที่เขียนไว้อีกครั้ง มีไหมคะว่าอยากแก้ไขบางคำหรือเพิ่มบางคำเข้าไป
วินทร์ : เป็นประจำเลยครับ ผมอ่านเรื่องที่เขียนไปแล้ว ก็มักอยากเติมโน่นเติมนี่เข้าไป ตามประสาคนอยู่ไม่สุข และมองเห็นจุดบกพร่องเสมอ

สารากร : เขียนหนังสือเป็นเวลาหรือเปล่าคะ
วินทร์ : ตลอดเวลานี่ถือว่าเป็นเวลาหรือเปล่าล่ะ?

สารากร : มีวินัยในการเป็นนักเขียนอย่างไรบ้าง
วินทร์ : เขียนทุกวัน ตรงต่อเวลา ไม่มีข้ออ้างไม่เขียน ไม่ว่าฝนตก แดดออก หรือป่วย

สารากร : รู้สึกอย่างไรคะ ที่เด็กๆมองคุณเป็นฮีโร่ในวงวรรณกรรม
วินทร์ : วงการวรรณกรรมไม่ใช่วงการมวย ไม่มีฮีโร่หรอกคุณ นักอ่านอาจจะชอบงานเขียนบางชิ้นเป็นพิเศษ แต่มันก็ไม่ควรนำไปผูกกับตัวตนนักเขียน อย่างไรก็ตาม ก็ขอบคุณนักอ่านที่อ่านงานของตัวเอง เป็นความผูกพันกันอย่างหนึ่ง รู้สึกอบอุ่นดี

สารากร : รางวัลมีผลต่องานเขียนของคุณหรือเปล่า
วินทร์ : มีผลต่อชีวิตอยู่บ้าง เพราะมันทำให้เป็นนักเขียนอาชีพเร็วขึ้น (เดิมคิดว่าต้องใช้เวลาสัก ๓๐ปี แต่รางวัลช่วยร่นเวลาลงเหลือ ๑๕ ปี) แต่ไม่มีผลต่องานที่เขียนครับ เพราะไม่คิดว่าจะต้องทำงานชิ้นใหม่ให้ดีกว่าชิ้นที่ได้รับรางวัลเสมอไป

สารากร : คิดจะส่งพิจารณารางวัลซีไรท์อีกไหมคะ
วินทร์ : I don’t think so!

สารากร : มองเด็กๆที่อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ ๑๔ อย่างไร
วินทร์ : ดีครับ มีความมุ่งมั่นดี

สารากร : คุณคิดว่า หนังสือที่ดีควรเป็นอย่างไรคะ
วินทร์ : ทำให้คนอ่านฉลาดขึ้น

สารากร : เคยสมองตันไหมคะ
วินทร์ : จากการสแกนสมองครั้งล่าสุด ยังไม่ปรากฏอาการนี้ (สาธุ!)

สารากร : ถ้าคิดงานเขียนไม่ค่อยออก คุณมีกิจกรรมอะไรรองรับบ้างคะ
วินทร์ : เขียนเรื่องที่เขียนออก

สารากร : สังคมให้อะไรกับงานของคุณบ้าง
วินทร์ : สังคมไม่สามารถให้อะไรใครได้หรอกครับ นักเขียนต้องขุดหาเอาเอง พูดสั้นๆ คือ นักเขียนก็คือกรรมกรชีวิต

สารากร : ใน ๑ ปีที่ผ่านมา คุณคิดว่า คุณเขียนเต็มที่หรือยัง
วินทร์ : Yessss!

สารากร : ตั้งแต่เปิดพื้นที่ winbookclubขึ้นมา  มองเห็นความเคลื่อนไหวในแวดวงนักอ่าน นักอยากเขียนอย่างไรบ้างคะ และแรงบันดาลใจจากการที่พี่วินทร์จัดให้มีห้องสนทนา จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกงานกันอ่าน ตรงนี้เป็นความตั้งใจเดิม แรกเริ่มของการมีเว็บบอร์ดหรือเปล่าคะ
วินทร์ : ผมแลเห็นความพยายามของนักอยากเขียนหลายคนที่สร้างงานต่อเนื่อง เชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาคงได้เป็นนักเขียนเต็มตัวสมใจ ส่วนนักอ่านจำนวนมากก็มีคุณภาพและมีความคิดความอ่านดี เป็นเรื่องน่ายินดีที่เว็บนี้เป็นพื้นที่ที่ปัญญาชนมาชุมนุมกัน ซึ่งก็ตรงกับจุดประสงค์ของการตั้งเว็บบอร์ด คือเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนที่เข้ามาเปิดหูเปิดตาจากการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และประสบการณ์กัน

สารากร : ผลตอบรับในปัจจุบัน ทำให้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง กับการจัดพื้นที่ในการเขียน การอ่านคะ
วินทร์ : ในการจัดพื้นที่ในเว็บนี้ ผมหวังเพียงว่า การเข้ามาในเว็บไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า หากหลังจากเข้ามาเยือนแล้ว คนอ่านรู้สึกดีขึ้น หรือสามารถขยายความคิดอ่านกว้างขึ้น เท่านี้ก็ดีแล้วครับ แม้คนที่มาเยือนจะน้อย แต่ก็ไม่เป็นไร

สารากร : นิตยสารออนไลน์ ก้าวรอก้าว ถือกำเนิดขึ้นจากการที่เพื่อนหนอนสนทนาคิดอยากจะมีกิจกรรมงานเขียนร่วมกัน อันเป็นผลมาจาก ห้องหนอนสนทนา คุณมีความคิดเห็นอย่างไร กับกิจกรรมของพวกเขาบ้างคะ ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางร่วมกันมา ๑ ขวบแล้วค่ะ
วินทร์ : เท่าที่เห็นก็เป็นกิจกรรมที่ดีครับ เห็นความพยายามของคนที่อยากทำหนังสือ ผมเชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับทั้งคนเขียนและคนอ่าน ถือว่าเป็นขั้นหนึ่งของบันไดที่นำไปสู่โลกกว้าง

สารากร : การทำงานเป็นทีมทำให้พบอุปสรรคหลายอย่าง สิ่งสำคัญคือความคิด ที่บางครั้งทำให้ไม่ลงรอยบ้าง คุณเคยทำงานเป็นทีม แล้วแก้ไขปัญหาอย่างไรคะ
วินทร์ : ถือคติ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นมาตรวัดคุณภาพงาน ก็น่าจะรอดแล้วครับ

สารากร : คุณเคยคิดว่าตัวเองล้มเหลวกับสิ่งที่ทำบ้างไหมคะ  แล้วดำเนินการต่อจากนั้นอย่างไรให้พบคำว่าสำเร็จ
วินทร์ : ใครๆ ก็ต้องเคยล้มทั้งนั้น คนล้มเหลวก็คือคนที่ไม่ยอมลุกขึ้นมาเท่านั้น

สารากร : อยากให้ฝากข้อความถึงทีมงานก้าวรอก้าวสักนิดค่ะ อยากติ อยากชม หรือว่ามีข้อเสนอแนะอะไร เชิญเลยนะคะ
วินทร์ : ทำงานให้สนุก ทำให้สุดสุดไปเลย ไม่ต้องกลัวอะไร

บางครั้งสิ่งที่เรากลัวที่สุด อาจไม่ใช่ภาวะที่เราเป็นอยู่ เช่น ไม่มีเวลา เขียนไม่ออก หรือแม้กระทั่ง การสูญเสียวัตถุดิบในการนำเสนอ หากแต่คือความเชื่อมั่นในใจ ที่เมื่อลองได้สูญเสียไปแล้ว จะต้องใช้เวลามากมายกว่าการสร้างความมั่นใจในครั้งแรก และเมื่อถึงวันที่ความเชื่อมั่นเหล่านั้นกลับคืนมา เราคงได้พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง

แด่ก้าวรอก้าว นิตยสารที่น่ารัก และแสนอบอุ่น .


[อ่าน ก้าวต่อก้าว ในฉบับอื่น] : [สารบัญ ฉบับส่งท้าย]

5 Responses to คุยกันเท่านั้นเอง – บทสนทนาจากพี่วินทร์ เลียววาริณ ถึงก้าวรอก้าว

  1. 8hitz พูดว่า:

    ผมชอบพี่วินทร์มากเลยครับ

  2. nena พูดว่า:

    สาธุด้วยคน .. ห้ามสมองตัน นะคะ พี่วินทร์

  3. 6a.m.café พูดว่า:

    เพิ่งจะพลัดหลงมาเจอแมกกาซีนออนไน์ฉบับนี้
    ขออนุญาตตามอ่านด้วยคนนะคะ ^_^

  4. www.siamcollective.com พูดว่า:

    ชอบ ความคิดคุณวินทร์

  5. ภาวนา เจตน์ทยากร พูดว่า:

    อ่านครั้งแรกที่ห้องสมุดประชาชน ชอบมากเพราะว่าอ่านแล้วออกขำขำแต่ไม่ไร้สาระ เป็นข้อคิดในมุมมองที่กลับด้านความคิดปกติ ทำให้เรามีความคิดได้กับตะเข็บขึ้น จากอ่านฟรี เลยไปหาซื้ออ่าน

ใส่ความเห็น