นาคสะดุ้ง ลีลานาคในพุทธศาสนา

[สืบศิลป์] โดย กีรติ


นาคสะดุ้ง ลีลานาคในพุทธศาสนา

องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทย ที่จัดได้ว่ามีการประดับตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามตามสมัยนิยมอยู่เสมอนั้น คงหนีไม่พ้นชุดเครื่องลำยองเป็นแน่

เครื่องลำยอง คือ องค์ประกอบรวม ชุดหนึ่งที่ใช้ประดับปิดท้ายขอบหลังคาด้านสกัดของอาคาร คือในส่วนของหน้าบัน นับว่า เป็นส่วนที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่อง ของรูปแบบและประวัติความเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ทำให้ชุดเครื่องลำยองดูมีชีวิต ชีวามากขึ้นนั้นคือ ตัวลำยอง

ตัวลำยอง คือ ส่วนขององค์ประกอบสำคัญของเครื่องลำยอง เป็นส่วนที่ใช้ยึดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ โดยพาดอยู่บนหลัง ‘แป’ ทำหน้าที่ปิดเครื่องมุงหลังคาด้านสกัด มีลักษณะคล้ายลำตัวของนาค โดยมีหัวอยู่ที่ส่วนที่เรียกว่า ‘หางหงส์’ นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่านาคมีความสำคัญ

และความสำคัญของนาคนี้ก็มีมาแต่เดิมแล้ว คือตั้งแต่ในศิลปะอินเดีย และเข้ามาเผยแผ่ยังประเทศไทย ในคราวเดียวกันกับที่มีการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งคนในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า นาคเป็นสัตว์กึ่งเทวดา มีลักษณะคล้ายงูใหญ่ บทบาทของนาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่สำคัญ อย่างเช่น ในช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขภายหลังจากตรัสรู้ ในสัปดาห์ที่ ๖ ที่ใต้ต้นจิก มีพญานาค ๗ เศียร ชื่อมุจลินท์ มาแผ่พังพานเพื่อป้องกันฝนไม่ให้ต้องพระวรกาย ตลอด ๗ วัน จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก

ในศิลปะไทย จะพบนาคทั้งในจิตรกรรมประติมากรรม และส่วนประดับสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นราวพนักบันได คันทวย ช่อฟ้า ตัวลำยอง เป็นต้น รูปแบบของนาคก็ได้รับการสร้างสรรค์ให้มีรูปร่างต่างกันออกไปตาม ความนิยมที่ได้รับความนิยมในการสร้างเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมพุทธสถานต่างๆนั่นคือ ‘นาคสะดุ้ง’

โชติ กัลยาณมิตร อธิบายคำว่า ‘นาคสะดุ้ง’ ไว้ว่า เป็นส่วนของลำยองระหว่างแปหัวเสา แปลาน และแปงวง ที่ทำอ่อนตัวห้อยตกท้องช้างเหมือนคล้องผ้าห้อยพาดผ่านหัวแปทั้งสาม ส่วนที่ทำตัวอ่อนทั้งหมดนี้ เรียกว่านาคสะดุ้ง

นอกจากนี้ ยังมีความหมายรวมถึง ราว หรือ พนักที่ทำเหมือนลำตัวพญานาคเลื้อย จนเราอาจเรียกลักษณะที่มีนี้บนสะพานว่า สะพานนาค มีความเชื่อกันว่าสร้างขึ้นตามความเชื่อถือที่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์ ได้เนรมิตบันได ๓ บันได เป็นที่เสด็จลง

๑.บันไดทอง สำหรับหมู่เทพเจ้าลง อยู่ด้านขวา ๒.บันไดเงิน สำหรับท้าวมหาพรหมอยู่ด้านซ้าย ๓.บันไดแก้วมณี สำหรับพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง บันไดแก้วมณีนี้มีพญานาคจำนวน ๒ ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้

นาคสะดุ้ง ที่พบทั้งตัวลำยอง และราวสะพานนี้ เป็นการแสดงออกทั้งในทางเชิงช่าง แทรกความหมายที่สะท้อนแนวคิด และการแสดงออกได้ดีทีเดียว กล่าวคือ ตัวลำยองนาคสะดุ้งนี้ โดยมากเป็นเครื่องไม้ ส่วนที่ขดลำตัวจะพาดลงบนแป ไม่ว่าจะเป็นแปหาญ หรือแปงวง เพื่อเป็นการรองรับน้ำหนัก แต่ในสมัยต่อมาพบว่า ตัวลำยองนาคสะดุ้งที่เป็นเครื่องปูนก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประกอบเครื่องไม้ และไม่มีความจำเป็นที่จะมีแปมารองรับน้ำหนักก็ตาม

ความงดงาม ดูมีชีวิตของลำตัวนาค เป็นเสน่ห์ประการหนึ่ง เราจึงพบนาคสะดุ้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวลำยอง หรือว่าราวบันได ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ·

ตีพิมพ์ครั้งแรก
หนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ ๘๑ สิงหาคม ๒๕๕๐


[อ่าน สืบศิลป์ ในฉบับอื่น] | [สารบัญ – ก้าวฯที่ ๑๗]

4 Responses to นาคสะดุ้ง ลีลานาคในพุทธศาสนา

  1. สวรรค์เสก พูดว่า:

    นั่นไง ว่าแล้วเชียว

    เกล้ากระผมอ่านได้ 2-3 ย่อหน้าแรก ให้นึกในอก วิตกในจิตว่า ทำไหม๋แม่นางกีรีถึงไม่ส่งไปลงนิตยสารแจ่มๆ สักหัว ไปเลยหนอ

    พออ่านจบ

    โอ้ววว แม่เจ้า! หล่อนแจ้งเกิดในหนังสือพิมพ์ธรรมลีลามาตั้งแต่ปางบรรพ์แล้วหรือนี่

    นับถือๆๆ

  2. กีรติ พูดว่า:

    ค่ะ เขียนมาได้สองปีกว่าแล้วค่ะ ปีนี้ก็สามแล้ว

    เขียนตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ค่ะ ต่อไปมีการ์ตูนธรรมะด้วยนะ

  3. นก พูดว่า:

    เนื้อหาดีมากๆเลยค่ะ
    *ขอบคุณค่ะ

  4. นก พูดว่า:

    เนื้อหาดีมากค่ะ

ใส่ความเห็น