เยี่ยมบ้านคึกฤทธิ์

[คอลัมน์ธรรมดา]



เยี่ยมบ้านคึกฤทธิ์

เราไปถึงบ้านเลขที่ ๑๙ ซ.พระพินิจ สาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ในเวลาราว ๆ บ่ายโมงกว่าของวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่เมฆกำลังครึ้มฟ้าและมีเม็ดฝนเปาะแปะลงมาให้คลายร้อน ใต้หลังคาศาลาหลังแรกสุด ซึ่งอยู่ทางขวามือของถนนลาดยางที่ทอดยาวเข้าไปภายในบริเวณบ้าน คือจุดแรกที่เราเข้าไปเพื่อรับรอยยิ้มทักทายจากเจ้าหน้าที่ “กองทุนบ้านม.ร.ว.คึกฤทธิ์”

ความคิดแรกสุดที่ผมมีหลังจากที่ตัดสินใจกลับมาร่วมงานกับทีมงาน ก้าวรอก้าว อีกครั้งก็คือ การเขียนสกู๊ปพิเศษ โดยวางคอนเซ็ปต์ไว้กว้าง ๆ ว่า จะหาโอกาสไปสัมภาษณ์และเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลธรรมดา ๆ ที่เราเห็นว่าไม่น่าจะธรรมดา ซึ่งถ้าพิจารณาให้ถึงที่สุดแล้วจะเห็นว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีหลากหลายและปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในสังคม และถ้าจะว่าถึงเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ผมก็คิดว่าผมคงมีเรื่องให้เขียนทั้งชาติไม่รู้หมด ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่นิตยสารส่วนใหญ่มุ่งนำเสนอดารานักร้องจากต่างประเทศ ผมก็จะบ่ายหน้าเข้าไปยังโรงลิเกที่ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าสักแห่ง เพื่อสัมภาษณ์หัวหน้าคณะลิเกว่า เขา “อยู่ได้อย่างไร” ในสภาวะที่ผู้เสพสิ่งบันเทิงส่วนใหญ่ต่างหันหลังให้เขาแล้ว

แต่นี่เป็นแค่ความคิดนะครับ ยังไม่ทันได้ลงมือทำอะไร ความคิดใหม่ก็ผุดขึ้นมาตามประสาคนคิดมาก เท่าที่ทราบคอนเซ็ปต์ของทีมงานก้าวรอก้าว ก็คือ นิตยสารออนไลน์เล่มนี้ จะเน้นอะไรเกี่ยวกับ “วรรณกรรม”เพื่อให้สมกับจุดกำเนิดของเราที่เริ่มมาจากการรวมกลุ่มของคนที่ชอบอ่านวรรณกรรม ซึ่งได้รวมตัวกันขึ้นจากเว็บบอร์ดของนักเขียนที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย

เมื่อวรรณกรรมคือสิ่งสำคัญที่สุด เราจึงคิดว่าคงจะเป็นการดีไม่น้อยถ้าจะเปิดปฐมบทแห่งคอลัมน์นี้ด้วยเรื่องราวของบุคคลสำคัญแห่งวงการวรรณกรรมไทยผู้ล่วงลับไปแล้วท่านนี้ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

แต่เพียงแค่เอ่ยชื่อท่าน และเพียงแค่คิดจะไปเยือนบ้านของท่าน เราก็รู้สึกว่าตัวเราเล็กกระจิริดนิดเดียว คิดดูสิครับ คอนเซ็ปต์ของคอลัมน์สกู๊ปพิเศษที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกก็คือสัมภาษณ์และเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลธรรมดา (ที่อาจจะไม่ธรรมดา) แต่เรากลับเริ่มเตาะแตะด้วยการไปเยือนบ้านบุคคลสำคัญท่านนี้ ผู้ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมไทย มีผลงานอันทรงคุณค่ามอบเป็นมกรดกทางปัญญาแก่อนุชนรุ่นหลังนับร้อย ๆ เล่ม

และด้วยเหตุนี้แหละครับ เราจึงเดินตัวลีบดูโน่นดูนี่ ช่างภาพก็บันทึกภาพไป โชคดีที่มีน้อง ๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาคอยชี้ชวนชม แล้วอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผมก็พยายามตั้งใจฟังน้องเธอเล่าอย่างเต็มที่ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าว่ากันตามตัวอักษรแล้ว ผมก็คิดว่าทั้งประวัติและผลงานของหม่อมท่านก็ยังมีให้หาอ่านกันได้ง่ายอยู่

สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้เพราะน้องเธอย้ำอย่างชัดถ้อยชัดคำก็คือบ้านหลังนี้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรในฐานะ “บ้านบุคคลสำคัญ” ไม่ใช่ “พิพิธภัณฑ์” นะคะ เธอย้ำว่าไม่ใช่พิพิธภัณฑ์นะคะ ผมก็พยักหน้ารับเพราะโดยส่วนตัวแล้วก็เห็นว่าพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยต้องวังเวงกว่านี้ แต่ที่นี่ยังมีเสียงระนาดดังต๊องแต๊งแซมกับเสียงนกร้อง ซึ่งก็เข้ากันดีกับบรรยากาศบ้านทรงไทยกลางแมกไม้ ช่างเป็นบรรยากาศที่เหมาะต่อการเขียนหนังสือและตั้งวงเสียจริง ๆ เลยครับ

แม้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตนกำลังเดินชมบ้านของผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมไทย ควรจะสงบ สำรวม และซึมซับกับมรดกของชาติให้มากที่สุด แต่โดยสันดานส่วนตัวแล้วผมเป็นคนที่ชอบสอดรู้สอดเห็นในเรื่องที่ไม่ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ขณะเดินผ่านสระน้ำที่สร้างจำลองมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามลัทธิความเชื่อข้างขอม ผมก็เกิดอาการอยากรู้ว่าโต๊ะตัวไหนหรือม้านั่งตัวใดที่ “รงค์ วงษ์สวรรค์”เคยมานั่งกินเหล้ากับหม่อมท่าน

เราสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นโต๊ะที่ตั้งอยู่ใต้ถุนเรือนไทยนั่นแหละ ข้าง ๆ เรือนก็มีสระน้ำ พิจารณาโลเกชั่นก็เห็นว่าน่าจะเป็นตรงนั้นแหละ เพราะเหมาะมากที่จะนั่งเขียนหนังสือและพบปะศิษย์ที่มาเยี่ยมคารวะ

ส่วนโต๊ะที่ท่านใช้เพื่อนั่งหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น น้องนักศึกษาจากศิลปากรบอกว่า คือชุดที่ตั้งอยู่ข้างห้องเก็บหนังสือของท่าน ซึ่งอยู่บนชั้นสองของเรือน

อีกเรื่องที่ผมจำได้จากการบอกเล่าของไกด์เยาวเรศรุ่นเจริญศรีก็คือ เรื่องราวเกี่ยวกับเรือนคุณย่า จะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่าประกอบให้เป็นสีสันก็ไม่อาจทราบได้ คือเขาเล่าต่อ ๆ กันมาว่า หม่อมท่านได้ซื้อเรือนไทยหลังนี้มาจากแถว ๆ เสาชิงช้าในราคา ๒,๗๐๐ บาท แรกปลูกแล้วเสร็จก็ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ แต่ครั้นพอเข้ามาอยู่อาศัยแล้วก็ต้องเสียเงินให้คนขับสามล้ออยู่ร่ำไป คนขับสามล้อทั้งหลายบอกว่ามีผู้หญิงแก่ ๆ โบกรถให้มาส่งที่นี่ พอมาถึงก็ลงจากรถเดินเข้าบ้านไปเลย โดยไม่ยอมจ่ายค่ารถ

ฟังแล้วก็สนุกดีนะครับ แล้วผมก็อดคิดไม่ได้ว่าคุณย่าท่านคงจะลำบากทุลักทุเลไม่น้อยกับการต้องข้ามธรณีประตูที่สูงเกือบเข่าของเรือนหลังนั้น

เรือนไทยทั้งหมดมี ๕ หลังสร้างติดกัน สำหรับเรือนคุณย่านั้นท่านใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง มีสิ่งของเครื่องใช้เก่า ๆ เก็บไว้หลายชิ้น น้องเธอบอกอย่างคล่องปรื๋อว่าอะไรเป็นอะไรและมีประวัติความเป็นมายังไง ผมฟังแล้วก็ลืม ก็แหงละครับ ผมชอบเรียนประวัติศาสตร์โดยการซึมซับเพราะไม่ชอบท่องจำ ถ้าให้ท่องจำทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในบ้านหลังนี้เพื่อนำมาเขียน จ้างให้ชาตินี้ทั้งชาติคอลัมน์นี้ก็ไม่มีทางได้ผุดได้เกิด

ด้านทิศตะวันออกของเรือนคุณย่าคือห้องพระ ส่วนด้านทิศตะวันตกคือเรือนสำหรับนั่งเล่นติดกันกับเรือนนั่งเล่นคือห้องเก็บหนังสือ ส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือภาษาอังกฤษ ฝั่งตรงข้ามห้องหนังสือคือห้องนอนของท่าน ผมสนใจห้องนี้ เพราะอยากรู้อยากเห็นข้าวของเครื่องใช้ที่เป็น “ของส่วนตัว” ของท่าน เมื่อชะโงกหน้าเข้าไปแล้วต้องครางในใจว่าอืม…….ท่านนอนอย่างนี้เองนี่เอง นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๓ ของประเทศไทยท่านนอนตรงนี้ มันคงจะแตกต่างอย่างลิบลับกับนายกฯยุค SMS

ส่วนที่ผมชอบที่สุดของชั้นสองก็คือหอนกครับ ด้วยว่ามองลงไปก็เห็นสระน้ำแสะสวนสวย น้องไกด์เธอบอกว่าหม่อมท่านชอบเลี้ยงนก นี่เป็นความรู้ใหม่ของผม ก่อนหน้านี้ผมทราบแค่เพียงว่าหม่อมท่านชอบสุนัข อย่างเรื่อง “มอม” ที่ท่านเขียนให้อ่านจนน้ำตาไหลนั้นก็ยืนยันได้แล้วว่าท่านรักสุนัขแค่ไหน ใต้หลังคาหอนกนี่มีกรงนกอยู่สองกรง นกที่ท่านเลี้ยงไว้ก็ตายไปหมดแล้วนะครับ ที่เราเห็นอยู่ในกรงนั้นคือนกปลอม

ไม่ว่าจะเดินไปส่วนไหนของบ้าน ผมก็รู้สึกว่าบ้านหลังนี้ช่างเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการเขียนหนังสือ คือสภาพแวดล้อมเอื้อบรรยากาศให้เกิดอาการอยากเขียนมากจริง ๆ

หลังจากเดินชมบ้านจนแทบจะทั่วบริเวณพื้นที่ ๕ ไร่แล้ว ผมและช่างภาพก็มานั่งพักเหนื่อยอยู่ตรงสะพานข้าง ๆ เรือนไทย นั่งห้อยขาเรี่ยน้ำเล่นพลางคุยกันด้วยเรื่องจิปาถะ หนึ่งในเรื่องที่คุยกันก็คือการยกเลิกกิจการบ้านคึกฤทธิ์ของมูลนิธิบ้านคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องนี้เป็นข่าวขึ้นมาราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมูลนิธิฯได้ถอนตัวจากการบริหารบ้านคึกฤทธิ์ไปเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ดังนั้นทุกวันนี้บ้านของหม่อมท่านจึงอยู่ในความดูแลของกองทุนบ้านคึกฤทธิ์

ผมพอจะทราบข่าวนี้มาบ้างจากการอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ เมื่อเดือนก่อน เหตุผลของมูลนิธิฯก็คือการบริหารงานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นประสบปัญหาการขาดทุน จึงมีความคิดจะเช่าบ้านระยะยาว มีโครงการจะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด แต่ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช ทายาทผู้เป็นเจ้าของบ้านต้องการคงรูปเดิมของบ้านให้เหมือนเมื่อครั้งที่หม่อมท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่ยอมให้เช่าในระยะยาว และไม่เห็นด้วยกับการสร้างอาคารเพิ่ม มูลนิธิฯจึงถอนตัวออกไปและคงต้องหาสถานที่แห่งใหม่เพื่อดำเนินงานของมูลนิธิฯต่อไป

นี่เป็นเรื่องราวของผู้ใหญ่ท่านนะครับ กลุ่มละอ่อนอย่างทีมงานก้าวรอก้าวได้แต่เฝ้าดู เรียนรู้และเอาใจช่วยให้บ้านหลังนี้คงอยู่ต่อไป ลองนึกถึงคำว่า “ถนนสาทร” ดูสิครับ ภาพที่ปรากฏอยู่ในห้วงคิดของใครหลาย ๆ คนก็คือ ภาพของถนนกว้างขวาง รถรามากมาย และมีอาคารสูงระฟ้าตั้งตระหง่านขนาบอยู่ทั้งสองฟาก ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้หรอกครับว่า ในมุม ๆ หนึ่งนั้นมีโบราณสถานประเภทบ้านบุคคลสำคัญ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงวิถีชีวิตแบบไทย ๆ และคุณค่าอย่างอื่นอีกนานับปการที่อาจสัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น ซ่อนอยู่ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่ทยอยผุดขึ้นเหมือนเห็ดฤดูฝน

ปฐมบทของคอลัมน์นี้ เริ่มต้นด้วยการมาเยือนบ้านของผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมไทย ถ้าว่ากันตามความเชื่อหรือคติแบบไทย ๆ แล้ว การเริ่มต้นแบบนี้ก็นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้เขียนไม่น้อย ผมสำนึกอยู่เสมอว่านักประพันธ์ท่านนี้ยิ่งใหญ่เสมอ จึงเตาะแตะด้วยการเขียนคอลัมน์อย่างมีความสุข จากการที่วางคอนเซ็ปต์ไว้ว่าจะสัมภาษณ์และเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคนธรรมดาที่ไม่น่าจะธรรมดา กลายมาเป็นว่านี่เรากำลังเขียนถึงคนที่ไม่ธรรมดาเลย แม้กระนั้นก็เถอะ บทกวีปัจฉิมกาลที่ท่านได้เขียนไว้ก่อนขึ้นสวรรคาลัยนั้น ก็ดูเหมือนท่านแย้งกับผมว่า ท่านนะธรรมด๊า…ธรรมดา

_____เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์ มันจะผิดแปลกไปที่ไหนนั่น
ทิวาวารยังจะแจ้งแสงตะวัน ยามราตรีมีพระจันทร์กระจ่างตา
ไก่จะยังขานขับรับอุทัย ฝนจะพรำร่ำไปในพรรษา
คลื่นจะยังกระทบฝั่งไม่สร่างซา สกุณาจะยังร้องระงมไพร
ลมจะพัดชายเขาเหมือนเก่าก่อน ถึงหน้าร้อนไม้จะออกดอกไสว
เข้าหน้าหนาวหนามสาวจะเร้าใจ ให้ฝันใฝ่ในสวาสดิ์ไม่คลาดคลา
ประเวณีจะยังอยู่คู่ดินฟ้า ไม่สิ้นสุดในความเสน่หา
คนที่รักคึกฤทธิ์อย่าคิดระอา เพียงนึกถึงก็จะมาอยู่ข้างกาย
คอยเข้าปลอบประโลมใจในยามทุกข์ เมื่อมีสุขจะร่วมอารมณ์หมาย
เมื่อรักแล้วไหนจะขาดสวาสดิ์วาย ถึงตัวตายใจยังชิดมวลมิตรเอย

 

ผมอ่านบทกวีชุดนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก หมดความสงสัยโดยสิ้นเชิงในความยิ่งใหญ่ของท่าน ·

เรื่อง : นารินทร์ ทองดี
ภาพ : หนุงหนิง

— 

*ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๕๔ ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของพลโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง ปราโมช สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี (พระพันปีหลวง) พระราชทานชื่อว่า คึกฤทธิ์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มเขียนหนังสือลงในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๘๙ งานชิ้นแรกเป็นบทสักวา ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เกียรติศักดิ์ ไม่ใช้นามแฝงหรือนามปากกา และต่อมาได้เขียนนิยายการเมืองในรูปแบบของนวนิยายกึ่งพงศาวดาร เช่น เรื่องโจโฉ นายกตลอดกาล

บทบาทของการเป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์และนักหนังสือพิมพ์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ โดยเป็นทั้งเจ้าของ ผู้อำนวยการ และนักเขียนประจำ นอกเหนือจากการตอบปัญหาประจำวันแล้ว คอลัมน์พิเศษของท่านในหนังสือพิมพ์สยามรัฐคือ ข้าวนอกนา (๒๕๑๙) ข้าวไกลนา (๒๕๑๙-๒๕๒๓) คลื่นใต้น้ำ (๒๕๒๐) ข้างสังเวียน (๒๕๒๐-๒๕๒๓) และ ซอยสวนพลู (๒๕๒๓-๒๕๓๘) ซึ่งถือว่าเป็นเสียงแห่งเหตุผลในระยะที่สังคมไทยเต็มไปด้วยความสับสน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน

นอกเหนือจากการปฏิบัติภาระหน้าที่ด้านการบริหารราชการแผ่นดินจนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ชนรุ่นหลังยังรู้จักท่านในฐานะผู้มีผลงานด้านวรรณศิลป์ที่โดเด่นมากกว่า ๒๐๐ เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล หนังสือบางเล่มได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ซูสีไทเฮา เป็นต้น และได้รับการยกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี ๒๕๒๘


 [สารบัญ – ก้าวฯที่ ๑๖]

5 Responses to เยี่ยมบ้านคึกฤทธิ์

  1. เคยได้ฟังจากบุคคลผู้หนึ่ง ท่านผู้เล่าได้ไปเยี่ยมบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เพื่อสัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือ ในสมัยท่านยังมีชีวิต

    สมัยที่ได้ยินเรื่องไปเยี่ยมบ้านคึกฤทธิ์นั้น ก็นั่งปัดยุงไปขณะฟังอยู่ในสวนของบ้านไม้ไทยๆหลังหนึ่ง ข้างๆศาลานั่งก็มีบ่อบัว แล้วบุคคลท่านนั้นก็ชี้ชวนชมว่า “นั่นบัวอเมซอน คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเอามาให้ปลูก…” อืม การไปเยี่ยมบ้านนักประพันธ์นี่เราได้ไปสัมผัสวิญญาณของท่านผู้สามารถมากกว่าหนึ่งจริงๆ แบบที่บรรยายมาก็คิดเหมือนกันว่าไปดูดซับเอามันจดจำได้ประทับใจมากกว่าจินตนาการตามผูเล่าไปด้วย มาดูรูปภาพและบรรยากาศการเล่าในข้อเขียนนี้ก็ไม่ต่างกันเลย ความขลังยังไม่คลาย

  2. กวิสรา พูดว่า:

    บรรยากาศดูร่มรื่นมากๆเลยค่ะ
    เห็นด้วยว่าไม่น่าจะสร้างอาการเพิ่มเติมแต่ประการใด
    ควรคงสภาพเช่นเดิมไว้ดีที่สุดค่ะ

  3. สวรรค์เสก พูดว่า:

    ผมเคยแวะเข้าไปเที่ยวมาครั้งหนึ่งเหมือนกันครับ

    สภาพบ้านสงบร่มรื่นดีมาก ตัดกับบรรยากาศที่แสนวุ่นวายนอกรั้วบ้านได้ดีพิลึก

    ขอบคุณอีกครั้งสำหรับการนำภาพและงานเขียนดีๆ มาฝากผู้อ่าน

  4. ono พูดว่า:

    เป็นบทความที่ดีจังเลยค่ะ
    บรรยายได้บรรยากาศมากๆ
    เคยไปที่นี่มาแล้วเหมือนกัน
    ขอบคุนงานดีๆเช่นกันค่ะ

  5. บ้านจัดสรร พูดว่า:

    ยังไม่เคยไปเลยครับ เดืนผ่านหลายครั้งล่ะ

ใส่ความเห็น