สากลเพศ

[ก้าวต่อก้าว] โดย สารากร


สากลเพศ

ขึ้นชื่อว่าชีวิต ล้วนปรารถนาความสมบูรณ์แบบแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่กระนั้นทุกชีวิตก็ได้เรียนรู้แล้วว่า ความสุขสมบูรณ์แบบไม่เคยมีอยู่จริง เฉกเช่นความเสมอภาคที่แท้ในสังคม ที่กำหนดรูปรอยบางอย่างไว้อย่างลงตัว

ผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูที่มีแต่พี่ผู้ชาย คลุกคลีจนเธอเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นประเภทรักผู้หญิงด้วยกันมาแล้ว เธอผู้นั้นคือ กีรติ แห่งห้องหนอนสนทนา ชื่อจริงของเธอคือ นฤมล สารากรบริรักษ์ มหาบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรหมาดๆ เธอเคยกล่าวไว้เสมอๆว่า เพศนี้คือสิ่งสากล

เราจะร่วมพูดคุยกับเธอถึงความเห็นส่วนตัวในประเด็นเพศศึกษา และเพศสากลของเธอในก้าวต่อก้าวฉบับนี้

Q : คำว่า “เพศ” มีความหมายว่าอะไรคะ

A : คุณจะถามซื่อๆอย่างนี้เลยใช่ไหม ถ้าจะให้ตอบซื่อๆ ตามพจนานุกรมล่ะก็ คือ รูปที่แสดงให้เห็นว่า หญิง หรือชาย ถ้าเป็นสัตว์ก็เรียกว่าตัวผู้ หรือตัวเมียนี่ล่ะ

Q : เพศจำกัดที่หญิงกับชายเท่านั้นหรือคะ แล้วที่เราเห็นที่มากกว่านั้นจะเรียกว่าอะไรดีคะ

A : ก็เรียกเขาว่าเพศที่สาม น่าจะดีกว่า ในพจนานุกรมก็มีนะคุณ แต่เขาแยกออกมาเลยว่า กะเทย แต่สมัยนี้คนไม่ค่อยใช้แล้ว มีคำเรียกเพศที่สามเยอะแยะ อย่าง ตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ ยังรวมพวกที่ไม่เปิดเผยอีกว่าแอบ อะไรทำนองนี้ล่ะ การที่จะระบุว่าคนนี้เพศนั้นเพศนี้ คงได้แต่ภายนอกเท่านั้น เพราะว่า มันไม่ได้หมายรวมเข้าไปถึงความต้องการที่แท้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มันห้ามกันไม่ได้นะ

Q : แล้วคุณเป็นเพศอะไร

A : หญิงค่ะ

Q : ดูเหมือนว่าคุณทำความเข้าใจเพศที่สามได้ดี คนรอบข้างของคุณมีคนเหล่านี้หรือเปล่าคะ

A : ก็พอมีบ้าง จริงๆแล้วตั้งแต่เด็กมาเลยนะ ก็จะมีเพื่อนผู้ชายที่ชอบมาเกล้าผมให้ มาหวีผมให้ เขาจะเดินบิดตัวนิดๆ มาเข้าใจว่า อ๋อแบบนี้เขาเรียกว่าตุ๊ด เขาก็จะโดนเพื่อนผู้ชายคนอื่นๆล้อนะ แต่พอโตขึ้นมาหน่อย เรียนมหาวิทยาลัยก็เข้าใจว่า เพศที่สามมีตัวตน ในสังคมจริงๆ มีพื้นที่ของเขา แล้วก็จะไม่มีการล้อกัน เป็นไปได้ว่าในมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนของเพศที่สามในปริมาณที่ เรียกว่า สามารถเป็นข้อต่อรองอะไรหลายๆอย่างได้เลยล่ะ

Q : ข้อต่อรองที่ว่านี้คืออะไรคะ

A : คืออย่างนี้ มันไม่ใช่แค่นักศึกษาหรอกนะที่เป็นเพศที่สาม แต่ระดับอาจารย์ก็เป็น แล้วก็เปิดเผยด้วย เอาเข้าจริง เราแทบจะไม่ได้แยกแยะเลยว่า คุณเป็นทอมนะ คุณเป็นเกย์นะ จะทำแบบนั้น แบบนี้ไม่ได้ คุณต้องเป็นบุคคลชั้นสอง หรือไม่ก็ต้องถูกเพื่อนล้อ ตรงข้าม เพื่อนๆส่วนมากที่เข้าข่ายกลุ่มนี้ เรียนเก่งแล้วก็ไม่เอาปมของตัวเองมาสร้างปัญหา

Q : เหมือนว่าคุณจะยอมรับแล้วก็ยกย่องเพศที่สาม

A : ใช่ค่ะ โดยส่วนตัวไม่แอนตี้เกย์ ทอม ดี้ หรืออะไรอีกเยอะแยะที่แยกออกจากเพศหญิง เพศชาย ไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่า เขาต่าง เขาแปลก ออกจะเพลิดเพลินด้วยซ้ำ เป็นไปได้ว่าเพื่อนเขานิสัยดีด้วยมั้ง เลยไม่รู้สึกอะไร

Q : คิดอย่างไรกับการปฏิเสธเพศที่สามในสังคมคะ

A : จริงๆแล้ว ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า เรากีดกันเขาเพราะอะไร เขาเลว เขาเลวเพราะอะไร เขาเลวเพราะเพศหรือเปล่า หรือเขาเลวที่การกระทำ มันต้องแยกออกมาให้ได้นะคุณว่า การกระทำคือส่วนของการกระทำ ถ้าเราโยงเพศมาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างมันก็จบ ถ้าในสังคมบอก ผู้ชายเป็นใหญ่ ไอ้ที่เหลือก็จบ หรือว่าสังคมนี้ผู้หญิงเป็นใหญ่ ที่เหลือก็ไม่มีที่ยืน แต่เท่าที่เห็น เพศที่อ่อนแอทั้งทางร่างกาย และจิตใจมักถูกทำร้ายมากกว่า นั่นก็คงไม่พ้นเพศหญิง หรือผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง

Q : แล้วกับคำพูดที่ว่า “เพศที่สาม ทำให้เกิดการติดเชื่อโรคทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น” คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

A : ไม่ว่าเพศอะไร ลองมันได้สำส่อน มันก็แพร่เชื่อได้ทั้งนั้นล่ะคุณ แต่ว่าภาพที่ออกมานำเสนอให้เห็นว่าคนเหล่านี้ มีความสนุกทางกามารมณ์มากกว่าเพศอื่นๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันคงไม่ใช่หรอกมั้ง ความสำส่อนไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรอกค่ะ แต่ว่ามันอยู่ที่สำนึกของแต่ละคนที่มีมากมีน้อยไม่เท่ากัน

Q : การเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์มีประโยชน์หรือไม่คะ

A : มีมากๆเลยค่ะ เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ใครคิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรรู้ไว้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ไม่ได้หมายถึงว่าเราทุกคนต้องกระโดดลงไปนอนร่วมรักกันนะ แต่เราควรเรียนรู้กลไกต่างๆในร่างกายของเราเอง ทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีป้องกันรักษา หรือแม้แต่การหลีกเลี่ยงภาวะอะไรบางอย่างที่จะนำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง คือเอาเป็นว่ารู้ไว้ดีกว่าต้องมาตามแก้ค่ะ

Q : แล้วอย่างเพศที่สามนี่จะสอนเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างไรดีคะเนี่ย

A : อย่างนี้นะคุณ เพศศึกษานี้เราเรียนรู้เรื่องกลไกของร่างกาย และเรื่องของระบบสืบพันธุ์ แน่นอนว่าเพศที่สามนี้สืบพันธุ์กันไม่ได้ มันไม่ท้อง จะไม่มีทางมีลูก เพราะเขารักร่วมเพศ มันก็คงไม่ต่างกันหรอกค่ะ เรียนรู้ไปพร้อมๆกันได้ เพียงแต่ว่าในชีวิตจริงของพวกเขาแต่ละคน เขาก็จะรู้เองล่ะว่า เขาจะร่วมรักกันด้วยวิธีไหน คงไม่ต้องสอน เพียงแค่รู้จักวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคที่มากับการร่วมเพศ เท่านี้น่าจะพอแล้ว

Q : ขอพูดถึงเรื่องศักดิ์และสิทธิ์ของเพศที่สามสักนิดค่ะ คุณคิดอย่างไรคะกับการที่จะจำกัดขอบเขตอาชีพ หน้าที่การงานของเพศที่สามเอาไว้ค่ะ

A : อืมพูดถึงประเด็นนี้น่าสนใจมาก เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นทอมเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เขารอลงประชามติกันอยู่นี่ล่ะนะ เขาบอกเขาจะลงมติรับ พอถามว่าเพราะอะไร เขาบอกแค่ว่า รัฐธรรมนูญนี้ให้เกียรติเขา พอมาถึงจุดนี้เราก็ต้องมาทบทวนท่าทีของสังคมว่า กฏหมายที่จะตราให้เพศที่สามมีสถานภาพที่เท่าเทียมกันนั้น มันถูกลดบทบาทไปตั้งแต่เมื่อไหร่ จริงๆไม่รู้ตัวเลยนะว่าความไม่เท่ากันเกิดขึ้นมานานแล้ว พอรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิเพศที่สามมากขึ้น ก็ทำให้เข้าใจว่า อืมการเรียกร้องของพวกเขามันมีมาโดยตลอด ส่วนตัว ไม่ค่อยคิดกีดกันพวกเขา หรือว่าเราตัวเล็กก็ไม่รู้นะคิดแทนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลำบาก

Q : แล้วการระบุเพศในเอกสารมีความหมายอย่างไรคะ ถ้าคุณอยากให้มันเป็นสิ่งสากล

A : มีความหมายในแง่กฏหมายล่ะค่ะ เราจะไม่เอาคุณค่าของจิตใจมาเบียดเบียนความคมชัดของกฏหมาย มันจะต้องกระจ่างชัดในสักทางหนึ่ง คือตั้งแต่บุคคลนั้นกำเนิด เขาถือเพศอะไรอยู่ แต่ในเรื่องของจิตใจนั้นอยากให้มองเห็นถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากว่า ที่จะมาตั้งแง่ว่า คุณเป็นเพศนี้ มีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ แล้วมาจำกัดสิทธิเสรีกัน อย่างนี้มันจะก่อให้เกิดปัญหานะ

Q : มีโอกาสเป็นไปได้ไหมคะว่า คนเราจะยอมรับเพศที่ต่างออกไปมากขึ้น

A : มีโอกาสสูงค่ะ

Q : เพศสากล ในความหมายของคุณคืออะไรคะ

A : คือคนเราเท่ากันค่ะ

หนึ่งความเห็นจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เธอมองว่าความเท่าเทียมกันที่แท้ มันน่าจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศประการหนึ่งด้วย อีกทั้งเธอยังมองว่า เพศเป็นสิ่งสากล กว่าจะข้ามพ้นความคิดตรงส่วนนี้มาได้ คงไม่ต้องลองให้ท่านผู้ปกครองแต่ละประเทศ หรือใครก็ตามลองมีจิตใจเพศอื่นก่อน เพียงแต่ใส่ใจคุณค่าของความเป็นคน ก็น่าจะกระชับรอยแยกของเพศได้ ไม่ว่าคุณจะมีเพศอะไร จริงไหม.


[อ่าน ก้าวต่อก้าว ในฉบับอื่น] | [สารบัญ – ก้าวฯที่ ๑๖]

4 Responses to สากลเพศ

  1. ปลา(ไม่)น้อย พูดว่า:

    เป็นการเปิดกว้างแบบเสรี
    เหมาะกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

    แต่การเรียกร้องของกลุ่มเพศทางเลือก
    ก็เหมือนการเรียกร้องผ่านสายลมและ แสงแดด

    เพราะเรียกร้องในประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เต็มใบของเรา

    ประเทศก้าวไกลเกินกว่าจะมานั่งแบ่งแยกเพศแค่ชายหญิงกันแล้ว
    เห็นด้วยๆ

  2. กวิสรา พูดว่า:

    ผู้ชายไทยบางคน ก็ยังแอบเกลียดตุ๊ดอยู่เลยค่ะ
    พอเราพูดถึงเพื่อนเราที่เป็นเพศที่สามที่สี่ที่ห้า
    โอโห คุณผู้ชายขนาดแท้ บอกพอๆๆ ขนลุก แถมทำท่าไม่ชอบเอามากๆ

    เราก็พยายามอธิบายถึงความรัก ระหว่างชายกับชาย
    หรือหญิงกับหญิง เขาก็ไม่เข้าใจไปกันใหญ่
    แม้จะอธิบายถึงความเป็นธรรมชาติ ของเพศอื่นๆที่เค้าเป็นอยู่
    ก็ยังไม่เห็นจะยอมทำความเข้าใจเลย

    เชื่อว่าคนในสังคมไทยอีกมากเลย ที่ยังคิดแบบนี้
    เพราะตั้งแต่เด็กจนโต เวลามีการคุยเรื่องนี้ทีไร
    พวกกลุ่มผู้ชายแท้ๆ มักจะมีอาการออกตลอดเลยค่ะ

    ส่วนผู้หญิงมักจะเปิดกว้างและเข้าใจมากกกว่าอีก

  3. สวรรค์เสก พูดว่า:

    โธ่ๆๆๆ พี่ขอเม้นต์หน่อยนะ “แม่นางเลอขิ่น” นะ นะ

    อย่าชี้หน้าขู่เอาเรื่องแบบนี้ดิ เสียว!

    .

    “เพศ” สำหรับผมแล้วหมายถึงเครื่องบ่งชี้สถานะของบุคคลนั้นๆ เหมือนที่คุณพี่กีรีว่ามานั่น..ชอบแล้ว

    เพศหญิง เพศชาย เพศที่สาม เพศบรรพชิต เอ่ยคำว่าเพศที่พ่วงมาด้วย adjective เหล่านี้ปุ๊บ เห็นภาพปั๊บทันที ว่าแต่ละคน แต่ละท่าน มี “ดี” อะไรติดตัวกันอยู่บ้าง

    ผมล่ะลอบลุ้นเสียวตอนที่ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามว่า “แล้วคุณเป็นเพศอะไร?” (ผมลอบหลับตา เลื่อนเม้าท์ขึ้นไปดูหน้าคุณพี่อีกครั้ง เพ่งๆๆๆ พิศๆๆๆ แล้วเลื่อนลงมาดูคำตอบ)

    เฮ้ยยยยยยย หวุดหวิดๆๆ นับว่าแม่นางเลอขิ่นตอบได้ถูกแบบหวุดหวิดยิ่งนัก

    แว๊ก! ไปล่ะ ชี้หน้าอีกแระ

  4. กีรติ พูดว่า:

    555+

    สลัดคราบผู้ชายไม่หาย

    อุตส่าห์ไว้ผมยาวๆแล้วเชียว

ใส่ความเห็น