อุโบสถชั้นสองสมัยโบราณ

[สืบศิลป์] โดย กีรติ

อุโบสถชั้นสองสมัยโบราณ

|

พุทธศิลป์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป วัดวาอาราม หรือแม้แต่ลวดลายประดับ นอกจากจะให้ความงดงามและรับใช้พระพุทธศาสนาแล้วยังพบว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้แฝงความหมายที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในแง่ของวัฒนธรรมด้วย โดยมีลักษณะในรูปแบบของสัญลักษณ์ หรือที่เรียกว่า ประติมาณวิทยา ดังจะพบเสมอ ๆ ในภาพเล่าเรื่องไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม หรือแม้แต่การประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม

ระบบสัญลักษณ์เข้ามามีบทบาทในการแทนค่าความหมายของงานศิลปะมาตั้งแต่ครั้งยังไม่มีอักษรในการสื่อสาร ภาษาที่ใช้จึงเป็นการแสดงภาพมากกว่า อย่างเช่นการประดับลวดลายสถาปัตยกรรมด้วยปูนปั้น ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือชาดกต่าง ๆ นับว่าเป็นการถ่ายทอดผ่านงานช่างโดยแฝงไว้ด้วยความหมายนอกเหนือไปจากประโยชน์ใช้สอย

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ การศึกษาถึงที่มาของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในพุทธสถาน ซึ่งอาคารต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนแต่มีความหมายของเรือนฐานันดรทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก หรืออาจมีความหมายถึงที่ประทับของเทพบนสวรรค์

อย่างเช่นพระอุโบสถ พบว่าในส่วนของหลังคานั้นจะมีความพิเศษแตกต่างไปจากเคหสถานทั่วไป คือจะมีการซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ของแผ่นหลังคา จากขนาดใหญ่จนถึงขนาดย่อมลงไป สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้มีความหมายถึงเรือนที่มีชั้นเท่าจำนวนเท่าหลังคาที่ซ้อนทับกัน ยิ่งทับซ้อนกันมากเท่าไรยิ่งมีความหมาย ว่าเป็นอาคารฐานันดรสูงมากตามเท่านั้น (ลักษณะดังกล่าวมานี้ได้ปรากฏกับพระราชวังด้วยเช่นกัน)

ถึงแม้ว่าอุโบสถในระยะหลังนั้น ๆ จะมีเพียงชั้นเดียวก็ตามแต่ก็ได้สะท้อนความเป็นเรือนเครื่องสูงไว้บนการซ้อนชั้นของหลังคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่าความนิยมในการทำช่องแสงในสมัยก่อนได้สะท้อนสัญลักษณ์ของเรือนเครื่องสูงในลักษณะเช่นนี้ด้วยเช่นกัน จะขอยกตัวอย่างวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ยังรักษาคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไว้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ วัดบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ภายในวัดแห่งนี้มีอุโบสถฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตัวอาคารก่อด้วยอิฐถือปูนมีหน้าบันที่ประดับด้วยเทพพนมตรงกลางลายก้านขด คันทวยเป็นไม้แกะสลัก ใบเสมารอบอุโบสถทำด้วยศิลาทรายสีแดง ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุมและภาพทศชาติชาดกฝีมือคงแป๊ะ (วาดในคราวบูรณะวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓) พระประธานในอุโบสถเป็นพระศิลาทรายปางสมาธิสมัยอยุธยา

การสื่อความหมายของเรือนฐานันดรปรากฏในส่วนของผนังใต้หน้าบันของพระอุโบสถ นั่นคือช่องแสงของอุโบสถโดยสร้างเป็นการจำลองอาคาร มีส่วนทางเข้าที่ทำเป็นประตูโดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ ส่วนยอดของช่องเป็นการจำลองปราสาทยอด เจดีย์ย่อมุมประดับลวดลายปูนปั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบที่พบมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สัญลักษณ์ดังกล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในการออกแบบให้มีความแตกต่างไปจากเรือนอาศัยของฆราวาส ทั้งไม่เป็นที่นิยมว่าจะให้มีสิ่งใดอยู่เหนือพระประธาน จึงสร้างพระอุโบสถที่มีชั้นเดียวแต่แสดงความเป็นเรือนอย่างปราสาทที่มีจำนวนชั้นมากนั้นด้วยจำนวนการซ้อนของแผ่นหลังคาซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เราจึงพบอุโบสถที่มีสองชั้นอย่างอาคารสถานที่ต่าง ๆ นั่นเป็นเพราะว่า หน้าที่การใช้สอยของอุโบสถนั้นแตกต่างไปแล้ว •

(สารบัญ – ก้าวฯที่๑๑.)

1 Responses to อุโบสถชั้นสองสมัยโบราณ

  1. Leigh Platz พูดว่า:

    O . k ., it really is a good start however i’ll have to explore that a tad more. Will show you what else there really is.

ใส่ความเห็น